Wednesday, 22 January 2025

ตรวจสอบตัวอย่างหิน ดาวเคราะห์น้อยเบนนู รอบแรกพบคาร์บอนและน้ำ

15 Oct 2023
149

12 ตุลาคม 2023 เป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากที่ NASA ประสบความสำเร็จในการนำเอาตัวอย่างหินดาวเคราะห์น้อยเบนูกลับสู่โลก โดยได้มีการนำไปผ่านกระบวนการสกัดเอาตัวอย่างหินออกจากอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง ณ NASA’s Johnson Space Center ซึ่งเป็นห้องวิจัยหลักของ NASA ที่เก็บรักษาตัวอย่างหินต่าง ๆ (รวมถึงในโครงการ Apollo) ทาง NASA ก็ได้ออกมาประกาศถึงผลการตรวจสอบเบื้องต้น ของตัวอย่างหินที่เก็บได้จากภารกิจ OSIRIS-REx นี้

Advanced Curation Systematic Imaging Documentation for OSIRIS-REx Sample Return Mission PE

จากการใช้เทคนิคการตรวจสอบข้างต้น ซึ่งเป็นการตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน การใช้คลื่นอินฟราเรดและคลื่นเอ็กซ์เรย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอย่างหินเสียหายหรือสัมผัสกับอากาศบนโลกที่อาจทำให้ผลการตรวจสอบคลาดเคลื่อน ค้นพบว่า ตัวอย่างหินที่เก็บได้จาก Bennu นั้นมีองค์ประกอบของธาตุคาร์บอนและสารประกอบน้ำอยู่ด้วย

รายงานได้กล่าวได้ถูกพูดถึงผ่าน NASA’s Bennu Asteroid Sample Contains Carbon, Water บนเว็บไซต์ของ NASA อ้างอิงทีมวิจัยจาก University of Arizona ซึ่งเป็นทีมวิจัยหลักที่ดูแลงานฝั่งวิทยาศาสตร์ของภารกิจ OSIRIS-REx (Principle Investigator) นำโดยคุณ Dante Lauretta บอกว่า การตรวจสอบตัวอย่างหินนี้เหมือนเป็นการตรวจสอบแคปซูลกาลเวลาที่ถูกเก็บรักษามานานกว่า 4,500 ล้านปี (ยุคแรกเริ่มของการก่อกำเนิดดาวเคราะห์หินในระบบสุริยะ)

ซึ่งผลดังกล่าวนั้นตรงกับสมมติฐานที่ภารกิจ OSIRIS-REx ออกแบบมาให้ศึกษา เพราะเป้าหมายของภารกิจนี้คือการศึกษาการก่อกำเนิดและที่มาของโมเลกุลที่เป็นสารประกอบแห่งชีวิต (ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และไตโตรเจน) การตรวจสอบพบโมเลกุลดังกล่าว ช่วยยืนยันว่าเราส่งยานอวกาศไปเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยถูกดวง

ในเอกสาร Sample Return And Preliminary Examination Timeline For The Osiris-rex Mission ได้ระบุขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจสอบตัวอย่างหินจาก Bennu ไว้ว่า ภายใน 2 วันหลังจากที่ตัวอย่างของ Bennu ลงจอดบนโลก NASA ในการส่งต่อและตรวจสอบ จะต้องถูกทำผ่าน Glovebox (กล่องแยกอากาศที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสอดมือเข้าไปในถุงมือเพื่อทำงานต่าง ๆ) ภายใต้ห้องคลีนรูมมาตรฐาน 5 ตาม ISO ก่อนที่จะถูกตรวจสอบเบื้องต้นด้วยเทคนิค visible light microscopy, scanning electron microscopy, Fourier transform infrared spectroscopy (FTIR) และ X-ray diffraction (XRD) โดยทีม Sample Analysis Team หรือ SAT

แผนหลังจากนี้ของ NASA คือการเก็บรักษาตัวอย่างหิน 70% ไว้ ณ Johnson Space Center แห่งนี้ ที่เหลือจะมีการนำไปศึกษาและแจกจ่ายไปยังห้องวิจัยต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร เช่น JAXA ของญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการศึกษาตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย Itokawa และ Rennug จากภารกิจ Hayabusa และ Hayabusa 2 ตามลำดับ และหน่วยงานด้านอวกาศของแคนาดาอย่าง CSA นอกจากนี้ จะยังมีการส่งมอบตัวอย่างหินไปยังมิวเซียมภายใต้การดูแลของ Smithsonian เพื่อจัดแสดงแก่สาธารณะอีกด้วย

ที่มา  Spaceth.co

error: บทความมีระบบป้องกัน !!