Wednesday, 20 November 2024

Perseverance เริ่มการเดินทางอันยาวไกลสู่ Jezero Crater ค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต

21 Jun 2021
3731

วันที่ 1 มิถุนายน 2021 โรเวอร์ Perseverance เริ่มเดินทางออกจาก “Octavia E. Butler” จุดลงจอดของมัน หลังจากทำการทดสอบระบบเบื้องต้นสำหรับการ “Commission” เสร็จสิ้น ซึ่งก็คือการเตรียมการสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของโรเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการสื่อสาร ระบบสนับสนุนการบินของ Ingenuity ระบบสาธิตทางเทคโนโลยี ระบบไฟฟ้า และอื่น ๆ

ภาพ Panorama จาก Van Zyl Overlook ซึ่งเป็นจุดสังเกตการบินของ Ingenuity จาก Perseverance ประกอบไปด้วยภาพกว่า 992 ภาพประกอบเข้าด้วยกัน – ที่มา NASA/JPL-Caltech/ASU/MSSS

บัดนี้ Perseverance พร้อมแล้วที่จะเริ่มการเดินทางอันยาวไกลสู่ Jezero Crater เป้าหมายหลักที่มันถูกส่งมากเพื่อสำรวจและค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่อาจเคยมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งการเดินทางครั้งนี้อาจใช้เวลากว่าหลายร้อยวันบนดาวอังคารกว่าที่ Perseverance จะเดินทางถึงจุดหมายของมัน

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าที่มันจะเริ่มการเดินทางในวันที่ 1 มิถุนายน 2021 หนึ่ง อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งระบบการทำงานของ Perseverance เช่น อุปกรณ์สร้างออกซิเจนที่ถูกส่งมาเพื่อสาธิตทางเทคโนโลยีอย่าง MOXIE หรือ เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity ก็ถูกทดสอบไปแล้วหลายครั้ง กล้องของ Perseverance ได้ทดสอบถ่ายรูปแล้วอย่างน้อย 75,000 รูป ไมโครโฟนของมันก็ถูกใช้ในการอัดเสียงบนดาวอังคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วิดีโอ Panorama 360 องศาที่บริเวณ Van Zyl Overlook จาก Perseverance แสดงให้เห็นขอบหลุมของ Jezero Crater และ Delta River ทางทิศตะวันตก – ที่มา NASA/JPL-Caltech

Persevenrace มีเป้าหมายการสำรวจแยกกันสองแห่งสองการสำรวจซึ่งก็คือ Crater Floor หรือบริเวณรอบ ๆ Jezero Crater และ Delta River ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นเหมือนแม่น้ำให้น้ำไหลออกมาจาก Jezero Crater ในช่วงแรกของการเดินทาง Perseverance จะเดินทางลงใต้เพื่อสำรวจพื้นของหลุมอุกกาบาตครอบคลุมพื้นที่กว่า 4 ตารางกิโลเมตรเพื่อเริ่มการเก็บตัวอย่างสำหรับการนำกลับโลกในอนาคต

อ่านบทความเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างดาวอังคารส่งกลับโลกได้ที่นี่ – Mars Sample Return ส่งตัวอย่างดินดาวอังคารกลับโลกได้อย่างไร สรุปวิธีโดย NASA และ ESA

ภาพจุดลงจอด Octavia E. Butler Landing ของ Perseverance มุมซ้ายบน คือ พื้นที่ที่เรียกว่า River Delta – ที่มา NASA/JPL-Caltech/University Arizona

ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Octavia E. Butler คือ บริเวณที่เรียกว่า Séítah ซึ่ง Ingenuity ได้ไปบินสำรวจมาก่อนล่วงหน้าแล้วในเที่ยวบินที่ 6 และ Perseverance กำลังจะเดินทางตาม Ingenuity เพื่อไปเก็บตัวอย่างและทำการสำรวจอย่างละเอียดอีกที โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีชั้นหิน (Bedrock) และการแบ่งตัวของชั้นหินเป็นหน้าผาอยู่

หน้าผาบริเวณ Séítah ซึ่งถ่ายได้จากกล้องของ Ingenuity ที่ความสูง 10 เมตรในเที่ยวบินที่ 6 – ที่มา NASA/JPL-Caltech

นอกจากนี้ในบริเวณ Séítah นั้นเป็นพื้นที่ที่มีทรายเป็นจำนวนมาก ทำให้ Perseverance จะต้องเดินทางออมผาที่บริเวณพื้นของหลุมอุกกาบาตไปบริเวณที่มีความชันไม่มากของ Séítah เพื่อป้องกันไม่ให้มันติดหล่มในทราย

พื้นที่บริเวณนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล (ถ้ามี) อย่างน้อย 100 เมตรเมื่อ 3.8 พันล้านปีก่อน จึงอาจมีการทับทมของชั้นหินหรือการตกตะกอนที่อาจบงบอกว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารนั่นเอง นอกจากนี้เราจะได้ข้อมูลประวัติทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมจากการศึกษาพื้นที่บริเวณนี้อีกด้วย โดยเฉพาะการเก็บตัวอย่างดินเพื่อเตรียมส่งกลับโลกในภารกิจต่อไปซึ่งจะช่วยให้เราสามารถศึกษาดินบนดาวอังคารได้แบบที่โรเวอร์ไม่สามารถทำได้นั่นเอง

แผนการเดินทางของ Perseverance ซึ่งแบ่งออกเป็นสองการเดินทาง 1) การเดินทางไปยังจุดสำรวจทางภูมิศาสตร์ Séítah ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ 2) จุดสำรวจทางภูมิศาสตร์บริเวณ Delta River ทางตะวันตกเฉียงเหนือ – ที่มา NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

หลังการสำรวจจุดสำรวจทางภูมิศาสตร์ Séítah เสร็จสิ้น Perseverance น่าจะเดินทางไปได้แล้วอย่างน้อย 2.5 ถึง 5 กิโลเมตร พร้อมกับหลอดเก็บตัวอย่างที่เต็มไปด้วยตัวอย่างของหินและดินกว่า 43 หลอดก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังจุดลงจอดของมันที่ Octavia E. Butler เพื่อที่จะเริ่มการสำรวจชุดที่ 2 ซึ่งก็คือการเดินทางไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่ Delta River ของ Jezero Crater ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าเคยเป็นแม่น้ำออกมาจากทะเลสาบใน Jezero Crater มาก่อน และอาจมีซากฟอสซิลหรือร่องรอยของสารอินทรีย์หลงเหลืออยู่จากการตกตะกอนซึ่งอาจสามารถบอกใบ้กับเราได้ว่าดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริงนั่นเอง

ที่มา : SPACETH.CO

error: บทความมีระบบป้องกัน !!